วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

สรุปผลงานวิจัยและพัฒนา

เรื่องการศึกษาผลของการสอนวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้กระบวนการ S-P-K-C ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดดอนมะโนรา
TITITLE A STUDY ON EFFECTS OF SCIENCE INSTRUCTION BY S-P-K-C
PROCESS UPON ACHIEVEMENT OF MATHAYOM SUKSA II STUDENTS WATDONMANORA SCHOOL.
คำสำคัญ กระบวนการ S-P-K-C
ผู้วิจัย นายเสวก สินประเสริฐ
RESEARCHER MR.SAWAKE SINPRASERT
ตำแหน่ง ครู ค.ศ.4 โรงเรียนวัดดอนมะโนรา(รังสิยานุกูล)
วิทยะฐานะ ครูเชี่ยวชาญสาขาวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
วุฒิการศึกษา ศึกษาศาสตรบัณฑิต ศษ.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 2) เอกประถมศึกษา
ศึกษาศาสตรบัณฑิต ศษ.บ. เอกวิทยาศาสตร์
ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต ศษ.ม.เอกมัธยมศึกษา(วิทยาศาสตร์)
สถานที่ติดต่อ บ้านเลขที่ 91 หมู่ 3 ต.บางกระบือ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม 75120
ผู้วิจัยร่วม ไม่มี
ระยะเวลาทำวิจัย ปี 2545
ประเภทงานวิจัย งานวิจัยของโรงเรียนวัดดอนมะโนรา(รังสิยานุกูล) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
ความเป็นมา / ปัญหา
การจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในหลักการ ทฤษฎี ทางวิทยาศาสตร์ มีทักษะกระบวนการที่สำคัญที่ใช้สำหรับการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ พัฒนากระบวนการคิด การแก้ปัญหา สร้างสรรค์ความรู้และเทคโนโลยีขึ้นใหม่ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและคุณภาพชีวิต
จากผลการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดดอน มะโนรา ปีการศึกษา 2544 พบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่สูงเท่าที่ควร ซึ่งจัดได้ว่าเป็นปัญหาที่ควรดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว ผู้วิจัยจึงทำการวิเคราะห์ถึงปัญหาและสาเหตุของปัญหาว่าเกิดจากอะไร พบว่ารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมานั้นผู้สอนใช้วิธีการสอนที่เน้นกระบวนการที่สำคัญได้แก่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากเกินไปไม่มีการบูรณาการกระบวนการต่างๆเข้าด้วยกันเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยกระบวนการและวิธีการที่หลากหลาย
และทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง
ผู้วิจัยจึงศึกษาค้นคว้าวิธีการที่จะทำให้ผู้เรียนบรรลุถึงจุดมุ่งหมายดังกล่าวข้างต้น และ พบว่ากระบวนการ S-P-K-C เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่น่าจะช่วยให้การจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าวข้างต้นนี้ได้
ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาว่ากระบวนการ S-P-K-C จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ด้านพุทธิพิสัย สูงขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร

หลักการและแนวคิดในการพัฒนา
กระบวนการ S-P-K-C คือกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ S - Stimulate หมายถึง เร้าความสนใจ P - Process หมายถึง ใช้กระบวนการ K - Knowledge หมายถึง สานก่อองค์ความรู้ C - Creative หมายถึง นำสู่การสร้างสรรค์ เป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ มีทักษะกระบวนการที่สำคัญที่ใช้สำหรับการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ พัฒนากระบวนการคิด การแก้ปัญหา การสร้างสรรค์ความรู้ และเทคโนโลยีขึ้นใหม่ สามารถนำไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการนำกระบวนการนี้ไปใช้นั้น จะต้องนำไปสอดแทรกในขั้นตอนการสอนในแผนการจัดการเรียนรู้

วัตถุประสงค์ในการวิจัย
เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ด้านพุทธิพิสัยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ก่อนและหลังเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ด้วยกระบวนการ S-P-K-C

ระเบียบวิธีวิจัย
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงกึ่งทดลอง โดยใช้แบบแผนการศึกษาแบบกลุ่มเดียววัดก่อนและหลังการทดลอง (One Group Pretest – Posttest Design) เขียนเป็นสัญลักษณ์ได้ดังนี้

O1 X O2
กลุ่มทดลอง

O1 แทนการสอบก่อนการทดลอง
O2 แทนการสอบหลังการทดลอง
X แทนการสอนด้วยกระบวนการ S – P – K – C

สมมติฐานการวิจัย
นักเรียนที่เรียนด้วยกระบวนการ S-P-K-C มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
1. ประชากร คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดดอนมะโนรา(รังสิยานุกูล) อำเภอคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
2. กลุ่มตัวอย่าง คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2545
โรงเรียนวัดดอนมะโนรา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 30 คน กลุ่มตัวอย่าง ได้มาจากการเลือกอย่างเจาะจง (purposive sampling) โดยเลือกจากนักเรียนทั้งหมดที่มีอยู่ใน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

ตัวแปรที่ศึกษา
ตัวแปรต้น แผนการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 รายวิชา ว 203 โดยใช้กระบวนการ S-P-K-C
ตัวแปรตาม ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียน
ตัวแปรควบคุม ได้แก่เนื้อหาที่ใช้ในการทดลอง เป็นเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง 2533) ว 203 เรื่องกลไกมนุษย์

นิยามศัพท์
1. กระบวนการ (Process) หมายถึง การกระทำหลายการกระทำ ซึ่งทำต่อเนื่องกันไปเป็นชุด (Series) เพื่อให้เกิดผลอย่างหนึ่ง
2. การสอนโดยใช้กระบวนการ S-P-K-C หมายถึงกระบวนการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบเป็น 5 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 S - Stimulate หมายถึง เร้าความสนใจ
ขั้นตอนที่ 2 P - Process หมายถึง ใช้กระบวนการ
ขั้นตอนที่ 3 K - Knowledge หมายถึง สานก่อองค์ความรู้
ขั้นตอนที่ 4 C - Creative หมายถึง นำสู่การสร้างสรรค์
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ หมายถึง คะแนนที่วัดได้จากการทำแบบสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องกลไกมนุษย์ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีลักษณะเป็นแบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก วัดพฤติกรรม 4 ด้าน คือ ด้านวามรู้ความจำ ความเข้าใจ ทักษะกระบวน-การทางวิทยาศาสตร์ และการนำไปใช้ ด้านละ 20 ข้อ รวมจำนวน 80 ข้อ

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านพุทธิพิสัยเป็นแบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก วัดพฤติกรรม 4 ด้าน คือ ด้านวามรู้ความจำ ความเข้าใจ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และการนำไปใช้ ด้านละ 20 ข้อ รวมจำนวน 80 ข้อ

วิธีการรวบรวมข้อมูล
1. ทำการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องกลไกมนุษย์ โดยทดสอบก่อนเรียนด้วยแบบทดสอบจำนวน 80 ข้อ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
2. ดำเนินการสอนกลุ่มทดลองโดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการ S – P – K – C เรื่องกลไกมนุษย์ จำนวน 16 คาบ
3. ทำการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนเรื่องกลไกมนุษย์ โดยใช้แบบทดสอบฉบับเดียวกันกับแบบทดสอบก่อนเรียน
4. วิเคราะห์หาความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยของทั้งสองกลุ่มว่ามีความแตกต่างกับสมมติฐานหรือไม่ โดยใช้การทดสอบค่าที ชนิดตัวแปรสัมพันธ์กัน ( t – dependent) จากสูตร

t =





D = ผลต่างของคะแนนหลังและก่อนเรียน
= ผลรวมของผลต่างคะแนนหลังและก่อนสอน
2 = ผลรวมของผลต่างคะแนนหลังและก่อนสอนยกกำลัง2
N = จำนวนตัวอย่างประชากร
N - 1 = คำของความเป็นอิสระ
สรุปผลการวิจัย
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ด้านพุทธิพิสัยของนักเรียนก่อนและหลังเรียนด้วยกระบวนการ S-P-K-C แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 กล่าวคือคะแนนเฉลี่ยสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน แสดงว่ากระบวนการ S-P-K-C เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่มีผลทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สูงขึ้น

ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
1.1 การนำกระบวนการS-P-K-Cไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนควรพิจารณาให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่ใช้สอน
1.2 การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการ S-P-K-C มีกิจกรรมต่างๆนอกเหนือจากแผนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นอีกจำนวนมาก ก่อนนำไปใช้ควรศึกษาค้นคว้าและสร้างสรรค์เพิ่มเติม
2. ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรมีการวิจัยเปรียบเทียบผลการใช้กระบวนการ S-P-K-C กับนักเรียน 2 กลุ่มที่เป็นอิสระต่อกัน อาจเป็นโรงเรียนเดียวกันหรือต่างโรงเรียน
2.2 ควรมีการศึกษาผลของการสอนโดยใช้กระบวนการ S-P-K-C กับตัวแปรอื่นๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การคิดแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
2.3 ควรมีการศึกษาเปรียบเทียบผลการสอนโดยใช้กระบวนการ S-P-K-C กับกระบวนการสอนอื่นๆ หรือวิธีสอนแบบอื่นๆ
2.4 ควรมีการศึกษาเปรียบเทียบผลของการสอนโดยใช้กระบวนการ S-P-K-C ซ้ำกับประชากรกลุ่มอื่นๆ ในระดับต่างๆ หรือกับเนื้อหาวิทยาศาสตร์ในเรื่องอื่นๆ เพื่อจะได้ข้อมูล และผลการวิเคราะห์ใหม่ ซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับผลการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ เพื่อหาข้อสรุปในโอกาสต่อไป

1 ความคิดเห็น:

sawake-ks4 กล่าวว่า...

เป็นงานวิจัยที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา
ของประเทศไทย